Sodium Hydrosulfite เป็นสารชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใช้เป็น สารฟอกขาว ซึ่งสารเคมีชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มซัลไฟต์ มีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ใช้เป็นวัตถุกันเสีย ( preservative ) เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ยีสต์ และรา ช่วยถนอมหรือยืดอายุการเก็บอาหาร และยังมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเปลี่ยนสีของอาหารไม่ให้เป็นสีน้ำตาลเมื่ออาหารถูกความร้อนจากกระบวนการผลิต นอกจากนี้ยังถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีก เช่น ผสมในน้ำยาอัดรูป ฟอกสีผ้า กระดาษ สบู่ เป็นต้น
มีการนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด ได้แก่
-ผลิตภัณฑ์จากผักและผลไม้ เช่น ผักผลไม้แห้ง ผักผลไม้ดอง ผักและผลไม้กระป๋อง ผักผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้กวน
-ผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำตาล เช่น น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ น้ำเชื่อม
-ผลิตภัณฑ์แป้ง เช่น เส้นหมี่และก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น แป้ง
-อาหารแช่แข็ง
-เจลาติน และอื่น ๆ
ต้องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ดังที่ อย. ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 214 (พ.ศ.2543) กำหนดให้มีปริมาณในเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิทได้ไม่เกิน 70 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม หรือกรณีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไวน์ มอก. 2089-2544 ได้กำหนดให้มีปริมาณไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร เป็นต้น สำหรับองค์การอนามัยโลก ( WHO ) ได้กำหนดค่าความปลอดภัยไว้ คือ ปริมาณที่ได้รับไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัม/คน/วัน ( ADI : Acceptable Daily Intake )
การดูแลคุณภาพอาหารด้วยตนเอง
แม่ค้าได้นำผงเคมีที่ใช้ฟอกขาวมาใช้ในอาหาร เพื่อให้อาหารมีสีขาว ดูคุณภาพดีและมีบางคนได้ใช้ผงเคมีที่ฟอกแห ได้แก่โซเดียมไดไทโอไนต์หรือโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ในอาหารมาฟอกอาหารหลายอย่าง แต่สารที่ใช้ฟอกแหนี้มีอันตรายต่อสุขภาพ และในปัจจุบันยังตรวจพบโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ในอาหารหลายชนิด ดังนั้นจึงได้มีการพัฒนาชุดทดสอบโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ เพื่อให้สามารถนำไปตรวจสอบโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ในอาหารนอกห้องปฏิบัติการ ทราบผลได้รวดเร็ว และมีความแม่นยำสูง
ผลกระทบต่อสุขภาพ
ทำให้เกิดอาการหายใจขัด ความดันโลหิตต่ำ ปวดท้อง อาเจียน อุจจาระร่วง ผู้ที่แพ้อย่างรุนแรง หรือผู้ป่วยโรคหอบหืดจะมีอาการช็อค หมดสติ และเสียชีวิต
กฎหมายกำหนด
ยังไม่มีข้อกำหนดห้ามไว้ แต่การจะนำสารมาใส่ในอาหารจะใช้ได้เฉพาะสารที่อนุญาตไว้เท่านั้น
ตัวอย่างเป้าหมาย
น้ำตาลมะพร้าว หน่อไม้ดอง ทุเรียนกวน น้ำแช่ผักผลไม้ เช่น ถั่วงอก ขิงซอย กระท้อน ยอดมะพร้าว เป็นต้น ผ้าขี้ริ้ว ขาไก่เลาะกระดูก หนังหมูฝอย เอ็นหมู
ประโยชน์ของชุดทดสอบ
ชุดทดสอบนี้สามารถตรวจสอบสารฟอกขาวชนิดโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ได้อย่างรวดเร็ว
จำนวนตัวอย่างที่ตรวจได้/ชุด
100 ตัวอย่าง
ความไวของชุดทดสอบ
ระดับต่ำสุดที่ตรวจได้ร้อยละ 0.05 มิลลิกรัม
อุปกรณ์ชุดทดสอบ
-ถ้วยพลาสติก 1 ใบ
-น้ำยาในขวดหยด 1 ขวด
-คู่มือชุดทดสอบ 1 แผ่น
วิธีการทดสอบ
1. นำตัวอย่างใส่ในถ้วยพลาสติก ดังนี้
1.1 ตัวอย่างเป็นของเหลว หรือมีของเหลวผสมกับตัวอย่าง : เทของเหลวลงในถ้วยพลาสติก 5 มิลลิลิตร
1.2 ตัวอย่างเป็นของแข็ง : ตักมาครึ่งช้อนชาใส่ในถ้วยพลาสติก เติมน้ำสะอาดประมาณ 10 มิลลิลิตร บดตัวอย่างให้แตก ถ้าตัวอย่างเป็นผัก ผลไม้สด เติมน้ำพอท่วมตัวอย่าง แช่น้ำ 1-2 นาที (ไม่ต้องบด) นำน้ำแช่ 5 มิลลิลิตร มาทดสอบ
2. หยดน้ำยาในขวดหยด จำนวน 1-3 หยด เขย่าให้เข้ากัน สังเกตสีของสารละลาย
การประเมินผล
ถ้าสารละลายมีสีเทาหรือสีดำ แสดงว่ามีโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ (ไม่อนุญาตให้ใช้) ถ้าสารละลายมีสีฟ้าอ่อนหรือเขียว แสดงว่าไม่มีโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์
การปฏิบัติเมื่อใช้ชุดทดสอบสารฟอกขาวเสร็จแล้ว
ถ้วยพลาสติก : ให้เทน้ำในถ้วยพลาสติกทิ้ง ใส่น้ำสะอาดประมาณครึ่งถ้วยเขย่าเททิ้ง ทำซ้ำ 3-4 ครั้ง แล้วคว่ำถ้วยให้แห้งก่อนที่จะนำไปเก็บในกล่องชุดทดสอบ
ขวดน้ำยา : ปิดจุกให้แน่นแล้วเก็บในกล่องชุดทดสอบ
ข้อควรระวัง อย่าวางชุดทดสอบไว้ใกล้มือเด็ก
การเก็บรักษาชุดทดสอบ / อายุการใช้งาน
เก็บที่อุณหภูมิห้อง / 2 ปี
ดูวันหมดอายุที่กล่องบรรจุ
แนวทางการปฏิบัติ เมื่อตรวจพบสารฟอกขาวในอาหาร
-แนะนำให้ร้านเลิกใช้สารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ (สารฟอกขาว) ในอาหารเนื่องจากเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
-ถ้าพบบ่อยครั้งให้แจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการต่อไป