อะฟลาทอกซิน (Aflatoxin)
สารอะฟลาทอกซินเป็นกลุ่มของสารพิษที่สร้างโดยเชื้อรา Aspergillus flavus A. parasiticus และA.nomius สารอะฟลาทอกซินที่สำคัญและพบเสมอในธรรมชาติมี 4 ชนิด คือ AFB1,AFB2,AFG1 และ AFG2 โดย AFB1 จะพบมากที่สุด และมีความเป็นพิษสูงสุดเพราะเป็นสารก่อมะเร็ง โดยทำให้เกิดมะเร็งตับทั้งในคนและสัตว์ แม้ได้รับสารพิษปริมาณเพียงเล็กน้อย สารอะฟลาทอกซินสามารถทนความร้อนได้สูงสุดถึง 280 องศาเซลเซียส คงตัวในสภาพที่เป็นกรด แต่จะสลายตัวในสภาพที่เป็นด่าง และละลายน้ำได้เล็กน้อย เมื่อเข้าสู่ร่างกายบางส่วนจะถูกขับออกมารูปเดิม ทางปัสสาวะ อุจจาระ และทางน้ำนม บางส่วนจะเปลี่ยนแปลงเป็นสารอื่น (metabolites) ซึ่งตัวที่มีพิษมากที่สุด คือ Aflatoxin B1 -2,3 epoxide จะไปจับกับ DNA, RNA ทำให้กระบวนการสังเคราะห์โปรตีนผิดปกติ ทำให้เกิดมะเร็งตับ
สารอะฟลาทอกซินมักพบปนเปื้อนอยู่ในผลิตผลเกษตรหลายชนิดที่เป็นทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ธัญพืชต่างๆ ข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาเลย์ ลูกเดือย เมล็ดทานตะวัน มะพร้าวแห้ง พริกแห้ง ถั่วลิสง และถั่วชนิดต่างๆ กุ้งแห้ง ปลาแห้ง เครื่องเทศ สมุนไพร และกาแฟ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปทุกชนิดที่ผลิตจากวัตถุดิบที่มีการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซิน เพราะเชื้อราที่สร้างสารพิษนี้มักแพร่กระจายอยู่ทั่วไป และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่เก็บเกี่ยวผลิตผลการเกษตร ระหว่างเก็บรักษา และการขนส่ง
สารอะฟลาทอกซินนอกจากจะเป็นปัญหาเกี่ยวข้องกับสุขอนามัยของผู้บริโภคโดยตรงแล้วยังเป็นปัญหาสำคัญที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องกีดกันทางการค้าทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมและป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนสารพิษนี้เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีการกำหนดค่าปริมาณการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินในผลิตผลเกษตรแตกต่างกันไปเพื่อประโยชน์ของแต่ละประเทศ โดยประเทศไทย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 กำหนดให้มีการปนเปื้อนของสารแอฟลาทอกซินได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม หรือ 20 พีพีบี
หลักการ
ชุดตรวจสอบสารอะฟลาทอกซินสำเร็จรูปใช้เทคนิค ELISA แบบการแข่งขันตรง (Direct Competitive ELISA) มีประสิทธิภาพการตรวจจับสารพิษมาตรฐานอะฟลาทอกซินที่เติมลงไปในตัวอย่างได้ 82-100 % และมีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์เทียบเท่าวิธีทางเคมี
ข้อดีของชุดตรวจสอบ
1. ตัวอย่างที่ใช้ในการทดสอบมีขั้นตอนในการเตรียมที่ง่าย ไม่จำเป็นต้องมีการ clean up
2. สามารถตรวจสอบได้ครั้งละหลายตัวอย่างพร้อมๆกัน
3. เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติ
4. มีความไวในการตรวจวิเคราะห์สารพิษสูง สามารถตรวจได้ความเข้มข้นต่ำสุดถึง 0.4 ppb
5. ใช้เวลาในการวิเคราะห์สั้น ประมาณ 1 ช.ม. หลังเตรียมตัวอย่าง
6. ช่วยลดมลพิษเนื่องจากไม่ได้ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายเหมือนวิธีทดสอบทางเคมี
7. ต้นทุนการตรวจวิเคราะห์ต่อตัวอย่างต่ำเมื่อเทียบกับวิธีทางเคมี
8. ผลการวิเคราะห์อ่านได้ทั้งแบบ Qualitative และ Quantitative
9. สามารถใช้ตรวจหาสารอะฟลาทอกซินได้ในผลิตผลเกษตร และผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหารคนและอาหารสัตว์
ขนาดทดสอบ
1 กล่อง มี 48 ตัวอย่าง
การเก็บรักษา
เก็บภายใต้อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส อายุการเก็บรักษา 6 เดือน
ไฟล์ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์