สารฟอร์มัลดีไฮด์เป็นสารเคมีที่เรานำมาใช้ในงานต่างๆ ทั้งทางด้านอุตสาหกรรม การแพทย์ เคมี และทางการเกษตร สารเคมีถ้าใช้อย่างถูกวิธีก็เกิดประโยชน์ แต่ถ้าใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็จะเกิดโทษ ดังเช่นมีข่าวการตรวจพบฟอร์มาลีนในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาทิ เนื้อหมู ไก่ ปลา กุ้ง ปลาหมึก ซึ่งผู้ใช้ไม่คำนึงถึงอันตรายของสารที่จะเกิดขึ้น
สารฟอร์มาลินจะมีประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและทางการแพทย์เท่านั้น ห้ามนำมาใส่อาหารเพื่อรักษาสภาพอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าว จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จะเห็นได้ว่าการใช้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือฟอร์มาลินในอาหารไม่เพียงแต่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ยังมีโทษตามกฎหมายด้วย จึงได้มีการพัฒนาชุดทดสอบเพื่อตรวจหาการใช้น้ำยาดองศพ ในผัก ผลไม้ และ อาหารทะเล
ประโยชน์ของชุดทดสอบ
สามารถตรวจสอบการใช้ฟอร์มาลิน (น้ำยาดองศพ) ในผักสด อาหารทะเลสด ทราบผลได้ทันทีเพื่อเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยของอาหาร
จำนวนตัวอย่างที่ตรวจได้/ชุด
1 ตัวอย่าง
ความไวของชุดทดสอบ
ระดับต่ำสุดที่ตรวจได้ 0.5 มิลลิกรัม / 1 กิโลกรัม
การเก็บรักษา
เก็บที่อุณหภูมิห้อง อายุการเก็บรักษา 2 ปี
อุปกรณ์ชุดทดสอบ
ขวดทดสอบฟอร์มาลิน 1 1 ขวด
ขวดทดสอบฟอร์มาลิน 2 1 ขวด
ขวดทดสอบฟอร์มาลิน 3 1 ขวด
วิธีการทดสอบ
1.เทน้ำแช่ตัวอย่างอาหารลงในขวดทดสอบ เบอร์ 1 ประมาณ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ใน 3 ของขวด (หากตัวอย่างอาหารไม่มีน้ำ ให้ใช้น้ำสะอาดรินผ่านตัวอย่างอาหารให้ได้ปริมาณที่พอตรวจได้) ปิดฝาขวดและเขย่าจนสารเคมีในขวดทดสอบละลายหมด * ห้ามหั่นหรือบดตัวอย่างอาหาร
2.เทน้ำแช่ตัวอย่างอาหารจากขวดทดสอบ เบอร์ 1 ลงขวดทดสอบเบอร์ 2 ปิดฝาขวดและเขย่าจนสารเคมีในขวดทดสอบละลายหมด
3.เทน้ำแช่ตัวอย่างอาหารจากขวดทดสอบ เบอร์ 2 ลงขวดทดสอบเบอร์ 3 ปิดฝาขวด และแกว่งเบาๆ ให้ของเหลวในขวดทดสอบเข้ากัน สังเกตสีที่เกิดขึ้น
การประเมินผล
ถ้าสารละลายเป็นสีชมพูถึงสีแดง แสดงว่ามีฟอร์มาลินเจือปนอยู่ในตัวอย่างอาหารนั้น
ข้อควรระวัง
1.ไม่ควรตรวจสอบอาหารประเภทมีกลิ่นฉุน เช่น ผักชะอม กระถิน และผักกระเฉด สะตอ ผักกลุ่มนี้มีฟอร์มาลินในธรรมชาติประมาณ 40 มก./กก. อาหารทะเลที่ไม่สดและมีกลิ่นเหม็น จะมีฟอร์มาลินได้ประมาณ 5 มก./กก.
2.สารทดสอบจำเพาะกับฟอร์มัลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารกลุ่มอัลดีไฮด์ประเภทหนึ่ง เป็นองค์ประกอบของอาหารตามธรรมชาติ การทดสอบตัวอย่างจึงต้องหลีกเลี่ยงการ บดตัวอย่าง ให้ใช้น้ำล้างหรือน้ำแช่ตัวอย่างเท่านั้น เพื่อป้องกันผลบวกลวง
3.อาหารที่นำมาตรวจสอบ ควรเก็บในสภาพแช่เย็น เนื่องจากฟอร์มาลินสามารถระเหยได้ด้วยความร้อน
4.ควรตรวจสอบตัวอย่างทันที ไม่ควรเก็บตัวอย่างอาหารไว้หลายวัน เนื่องจากปริมาณฟอร์มาลินในอาหารจะลดลงได้จากการระเหย และอาจเกิดปฏิกิริยากับสารอาหารจะทำให้ผลผิดพลาดได้ เป็นได้ทั้งแบบ Irreversible (ทดสอบไม่พบ) และ Reversible (ทดสอบพบ)
5.น้ำยาทดสอบฟอร์มาลิน 3 มีสภาพเป็นกรด หากหกเปื้อนมือหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายให้ล้างด้วยน้ำและฟอกสบู่ให้สะอาด
6.อย่าวางชุดทดสอบไว้ใกล้มือเด็ก
แนวทางปฏิบัติเมื่อตรวจพบฟอร์มาลินในอาหาร
1. แนะนำร้านค้าให้เลิกใช้ฟอร์มาลินในอาหาร เนื่องจากมีพิษต่อสุขภาพถ้าบริโภคอาหารนั้นเข้าไป
2. ถ้าพบมีการใช้บ่อยครั้ง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการต่อไป