กรดซาลิซิลิค (salicylic acid) เป็นกรดอินทรีย์ที่เป็นอนุพันธ์ของสารฟีนอล สามารถผลิตและสังเคราะห์ได้จากธรรมชาติและทางเคมี พบเป็นองค์ประกอบของพืชหลายชนิด เป็นสารที่นำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง อาทิ ใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง ใช้เคลือบรักษาผลิตภัณฑ์การเกษตร ใช้สำหรับการป้องกันและกำจัดจุลินทรีย์ เป็นต้น
การดูแลคุณภาพอาหารด้วยตนเอง
การนำวัตถุกันเสียกันรามาใส่ในน้ำดองผัก ผลไม้ที่วางขายในตลาด เพื่อให้น้ำดองผักผลไม้ดูใสเหมือนใหม่อยู่เสมอ กรดซาลิซิลิคเป็นสารเคมีตัวหนึ่งที่นำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว เนื่องจากกรดซาลิซิลิคเป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ดีแต่เป็นอันตรายกับมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนด ห้ามนำกรดซาลิซิลิคมาใช้เจือปนในอาหาร แต่ปัจจุบันยังตรวจพบกรดซาลิซิลิคในอาหารหลายชนิด ดังนั้นจึงได้มีการพัฒนาชุดทดสอบกรดซาลิซิลิค เพื่อให้สามารถนำไปตรวจสอบกรดซาลิซิลิคในอาหารนอกห้องปฏิบัติการได้ ทราบผลได้รวดเร็วและมีความแม่นยำสูง
ผลกระทบต่อสุขภาพ
ถ้าได้รับกรดซาลิซิลิคจนมีความเข้มข้นในเลือดถึง 25-35 มิลลิกรัม / เลือด 100 มิลลิลิตร จะมีอาการอาเจียน หูอื้อ มีไข้ และอาจถึงตายได้ ถ้าหากบริโภคปริมาณเล็กน้อยเป็นประจำ จะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ และเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย
กฎหมายกำหนด
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) “กำหนดให้กรดซาลิซิลิคเป็นสารห้ามใช้ในอาหาร”
ตัวอย่างเป้าหมาย
น้ำดองผัก (ผักกาดดอง หน่อไม้ดอง กระเทียมดอง ขิงดอง ฯลฯ) น้ำดองผลไม้ (มะม่วงดอง มะยมดอง มะกอกดอง ฯลฯ)
ประโยชน์ของชุดทดสอบ
ชุดทดสอบนี้สามารถตรวจสอบกรดซาลิซิลิคในอาหารนอกห้องปฏิบัติการได้ และทราบผลทันที
จำนวนตัวอย่างที่ตรวจได้/ชุด
50 ตัวอย่าง
ความไวของชุดทดสอบ
ระดับต่ำสุดที่ตรวจได้ 100 มิลลิกรัม / กิโลกรัม
อุปกรณ์ชุดทดสอบ
1. ถ้วยยาพลาสติก 2 ใบ
2. หลอดหยด 2 อัน
3. น้ำยาทดสอบกรดซาลิซิลิค 1 1 ขวด
4. น้ำยาทดสอบกรดซาลิซิลิค 2 1 ขวด
5. คู่มือชุดทดสอบ 1 แผ่น
วิธีการทดสอบ
1. ตักน้ำดองผักหรือน้ำดองผลไม้ใส่ในถ้วยเบอร์ 1 และ เบอร์ 2 ถ้วยละ 5 มิลลิลิตร (เขียนเบอร์ถ้วยยาก่อนใส่ ตัวอย่าง)
2. หยดน้ำยาทดสอบกรดซาลิซิลิค 1 ลงในถ้วยที่ 2 จำนวน 10 หยด
3. หยดน้ำยาทดสอบกรดซาลิซิลิค 2 ลงในถ้วยที่ 2 ทีละหยด จำนวน 2-3 หยด โดยไม่ต้องเขย่า สังเกตสี จากด้านบนของถ้วยยาทันที
4. หยดน้ำยาทดสอบกรดซาลิซิลิค 2 ลงในถ้วยที่ 1 ทีละหยด จำนวน 2-3 หยด โดยไม่ต้องเขย่า สังเกตสี ที่เกิดขึ้นทันทีเช่นกัน
การประเมินผล
ถ้าถ้วยที่ 1 มีสีม่วงดำ เหมือน ถ้วยที่ 2 แสดงว่า ตัวอย่างมีกรดซาลิซิลิค เจือปน
ถ้าถ้วยที่ 1 เป็นสีอื่นที่ไม่ใช่สีม่วงดำ เหมือน ถ้วยที่ 2 แสดงว่า ตัวอย่างไม่มีกรดซาลิซิลิค เจือปน
การปฏิบัติเมื่อใช้ชุดทดสอบกรดซาลิซิลิคเสร็จแล้ว
1. ขวดน้ำยา : ปิดจุกให้แน่นแล้วเก็บที่เดิม
2. ถ้วยยาพลาสติก : เทน้ำ ในถ้วยทิ้ง ล้างด้วยน้ำ สะอาด คว่ำ ให้แห้ง แล้วเก็บที่เดิม
3. หลอดหยดยา : ให้หลอดหยดยาดูดน้ำ สะอาดแล้วบีบทิ้ง ทำ ซ้ำ 3-4 ครั้ง ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วเก็บที่เดิม
ข้อควรระวัง
1. การทดสอบในขั้นตอนเติมน้ำยากรดซาลิซิลิค 2 ลงในถ้วยทั้ง 2 ไม่ควรเขย่า เนื่องจาก จะทำ ให้สังเกตสีได้ยาก ให้ประเมินผลโดยสังเกตสีที่เกิดขึ้นจากด้านบนของถ้วยยา
2. สามารถใช้ชุดทดสอบตรวจสอบได้ทั้งอาหารสด หรืออาหารที่ทำ ให้สุกแล้ว
3. น้ำยากรดซาลิซิลิค 1 และ 2 เป็นกรดเล็กน้อย หากหกเปื้อนมือให้ล้างด้วยน้ำ และฟอกสบู่ ให้สะอาด
4. อย่าวางชุดทดสอบไว้ใกล้มือเด็ก
การเก็บรักษาชุดทดสอบ / อายุการใช้งาน
-เก็บที่อุณหภูมิห้อง / 2 ปี
-ดูวันหมดอายุที่กล่องบรรจุ
แนวทางการปฏิบัติเมื่อตรวจพบกรดซาลิซิลิคในอาหาร
1. แนะนำให้ผู้จำหน่ายอาหารเลิกใช้สารกันราที่ไม่ถูกต้อง และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
2. ถ้าพบบ่อยครั้งควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการต่อไป